มัสยิดมำบัง
ที่มุมถนนบุรีวานิช และถนนสตูลธานี คุณจะเห็น มัสยิดมำบัง ตั้งสง่าโดดเด่นด้วยหอคอยเป็นยอดโดมสูงสีทอง มัสยิดมำบังเป็นมัสยิดกลางตัวเมืองสตูล เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นศูนย์รวมในการปฏิบัติศาสนกิจของชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดสตูล หอคอย หรือ หออาซาน ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของมัสยิด ซึ่งแต่เดิมไว้ใช้ตะโกนบอกให้มุสลิมละหมาด มัสยิดบำบัง มีชื่อเดิมว่า "มัสยิดเตองะห์" หรือ "มัสยิดอากีบี" ได้สร้างในสมัยเจ้าเมืองสตูลคนแรก (ชื่อว่า ตนกูมูฮำหมัดอาเก็บ) ซึ่งได้รับราชทินนามเป็นพระยาอภัยนุราช และพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2382 โดยรัชกาลที่ 3 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองของสตูลคนแรกซึ่งเจ้าเมืองสตูลได้ปรึกษากับหวันโอมาร์ บินหวันซาดี และข้าราชการ ให้สร้างมัสยิดถาวรขึ้น ได้ช่างผู้เขียนแบบแปลนมาจากเมืองมะละกา ซึ่งได้เงินทุนการก่อสร้างจากการขายเรือมาด (ตีเมาซูด๊ะห์) นำไปขายที่เมืองไทรบุรี เพื่อซื้ออิฐ กระเบื้องลูกฟูกมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น และขนกลับก่อสร้างที่สตูล ซึ่งใช้เวลาหลายปี ในปี พ.ศ.2517 ได้รื้อและจัดสร้างใหม่ รูปทรงมัสยิดเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จทรงเปิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2525 ตัวอาคารสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น ทาสีขาวตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหินอ่อนและกระจกใส ตัวอาคารแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนนอกเป็นระเบียง มีบันไดขึ้นหอคอย สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองสตูล ลักษณะเป็นยอดโดมเดียว รูปคล้ายบัวตูม หรือ "เรือ" ในหมากรุกไทย บนยอดโดมมีสัญลักษณ์ดาวและพระจันทร์เสี้ยว แสดงถึงสัญลักษณ์การเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ส่วนในเป็นห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่ละหมาดพื้นหินขัด ผนังก่ออิฐถือโปกปูน สลับอิฐโปร่งสีน้ำตาล เพื่อระบายอากาศ ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบ หลังคาเทคอนกรีตปูด้วยกระเบื้องดินเผา โดมเป็นเฟือง ๘ เฟือง ประดับกระจกสีทองจากอิตาลีชั้นล่างมีห้องใต้ดิน ใช้เป็นห้องประชุม และห้องสมุด เป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวไทยมุสลิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น