วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เกาะไข่ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ

เกาะไข่ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ




        เกาะไข่ เกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่งในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล อยู่ห่างออกไปทางทิศ   ตะวันตกประมาณ 25 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่าง เกาะตะรุเตา และ เกาะอาดัง เสน่ห์ของ เกาะไข่ อยู่ตรงประติมากรรมธรรมชาติอย่าง ซุ้มประตูหิน อันเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา 
        ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะมีหาดทรายสีขาวนวลและละเอียด น้ำทะเลใสสีมรกตเห็นผืนทรายใต้น้ำได้ชัดเจน เหมาะสำหรับการเล่นน้ำและชมวิวทิวทัศน์อันสวยงามของเกาะ ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติกลางทะเลอันดามัน ทะเลรอบ ๆ เกาะไข่ มีแนวปะการังอยู่โดยทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปะการังเขากวาง เนื่องจากเป็นเกาะที่เงียบสงบ ทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เป็นจำนวนมาก
        ทางอุทยานแห่งชาติตะรุเตาไม่อนุญาตให้ค้างแรมบนเกาะ และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ เรือโดยสารจากเกาะตะรุเตาไปยังเกาะหลีเป๊ะ มักจะวิ่งผ่าน เกาะไข่ ซึ่งอยู่ระหว่างทางแต่จะไม่จอดแวะให้ท่องเที่ยว สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะแห่งนี้ได้ โดยการเช่าเรือจากท่าเรือปากบารา หรือจะซื้อแพคเกจท่องเที่ยวดำน้ำจาก เกาะหลีเป๊ะ มาเที่ยวที่ เกาะไข่ และเกาะโดยรอบได้อีกด้วย
        นอกจากนี้ ในวันแห่งความรักยังมีการจัดกิจกรรมงานวิวาห์บน เกาะไข่ โดยจะมีพิธีลอดซุ้มประตูหินและจดทะเบียนสมรส ซึ่งมีความเชื่อว่าคู่รักคู่ใดได้ลอดซุ้มประตูหินนี้ จะสมหวังในความรัก และครองคู่กันอย่างมีความสุข มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เหมือนดังป้ายที่จารึกไว้หน้าซุ้มประตูหิน

"ซุ้มรักนิรันดร์"

ประตูหินโค้ง...ตะรุเตา สตูล
จุดเพิ่มพูน ตำนาน รักหนุ่มสาว
แดนประเดิมเสริมรักให้ยืนยาว
สองเราก้าวสู่ประตู...รักนิรันดร์





วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เขาโต๊ะพญาวัง

เขาโต๊ะพญาวัง 


       รอบๆเมืองสตูล   มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติครบครัน   ป่าเขา น้ำตก  ทะเล  ครบครัน  ที่ใกล้ที่สุดก็คงเป็นเขาโต๊ะพญาวัง  ปัจจุบันจัดเป็นสวนสาธารณะ    อยู่บนถนนคูหาประเวศน์  ถือว่าเป็นปอดของเมืองสตูล  ให้อากาศบริสุทธิ์ เป็นแหล่งพักผ่อนของครอบครัวชาวสตูล  มีลำคลองมำบัง น้ำเย็นใสเลียบผ่านภูเขา ภายในมีถนน รถสามารถวิ่งรอบเขาได้  บางจุดจัดเป็นสวนหย่อมไว้ให้นั่งเล่นพักผ่อนบรรยากาศร่มเย็นด้วยต้นไม้ใหญ่นานาพันธ์ุตลอดทาง  กลางวันจะมีฝูงสิงแสมที่อาศัยอยู่บนป่า  ออกมาเกาะตามต้นไม้เพื่อออกมาหาอาหารและทักทายนักท่องเที่ยว  จากการค้นพบแหล่งโบรารณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว   เขาโต๊ะพญาวังเป็นภูเขาหินปูนลูกเดี่ยวๆ   มีถ้ำเล็กๆ ไม่ลึกมาก ได้พบเครื่องมือหิน  2 ชิ้นทางทิศใต้ของถ้ำ  เป็นเครื่องมือสะเก็ดหิน ซึ่งทำจากหินปูนเป็นรูปครึ่งวงกลม  มีความคมส่วนโค้ง  แสดงให้เห็นว่าสตูลเป็นพื้นที่เก่าแก่มีประวัติความเป็นมาก่อนประวัติศาสตร์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสน์กูเด็น)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสน์กูเด็น)


      พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสน์กูเด็น) รูปทรงอาคารสองชั้นสีขาว เป็นคฤหาสน์แบบสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล ที่อายุยาวนานกว่าร้อยปี ประตูหน้าต่างรูปโค้งตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยใช้กระเบื้องดินเผารูปกาบกล้วย  บานหน้าต่างเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็ก ๆ เป็นเกล็ดแนวนอน ช่องลมด้านบนตกแต่งรูปดาวตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม อยู่ที่ถนนสตูลธานีซอย 5  สร้างตั้งแต่ปีพ.ศ.2441  โดย พระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกูบาฮารุดดินบินตำมะหงง  (ชื่อเดิม กูเด็น บินกูแม๊ะ) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสตูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คฤหาสน์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จปักษ์ใต้ แต่ไม่ได้ประทับแรม  อาคารหลังนี้เคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดสตูล เป็นอาคารสวยงาม เชิดหน้าชูตาเมืองสตูลเป็นอย่างมาก และเคยเป็นสถานที่สำคัญๆ ของทางราชการเช่น สำนักงานเทศบาล ที่ว่าการอำเภอเมืองสตูล  โรงเรียนเทศบาล ที่ทำการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสตูล  และเมื่อปี พ.ศ. 2540 - 2543 ทางราชการจัดต้งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล  อยู่ในความดุแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และได้ปรับปรุงคฤหาสถ์กูเด็นให้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติประจำจังหวัดสตูล จัดตั้งขึ้นเพื่อสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปะ วัฒนธรรม โดยมีจัดแสดงให้บริการแก่สาธารณชน เพื่อประโยชน์ในการศึกษาสันทนาการ แสดงความภูมิใจของท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล  (คฤหาสน์กูเด็น)  ภายในจัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองสตูล ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตอาคารชั้นล่างแบ่งเป็น 4 ส่วน  ระเบียง  ห้องโถงกลาง  ห้องปีก 2 ข้าง  ห้องโถงด้านหลังสวนชั้นบนก็แบ่งเป็น 4 ส่วน  คือมุขด้านหน้า  ห้องโถงกลาง ห้องปีก 2 ข้าง  ห้องด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสน์กูเด็น) ถนนสตูลธานี ซอย 5 อำเภอเมือง จังหวัดสตูล โทร.074-72-3140 เวลาทำการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ ค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 30 บาท  ชาวไทย 10 บาท โทร. 074-723 140

มัสยิดมำบัง

มัสยิดมำบัง


       ที่มุมถนนบุรีวานิช และถนนสตูลธานี คุณจะเห็น มัสยิดมำบัง ตั้งสง่าโดดเด่นด้วยหอคอยเป็นยอดโดมสูงสีทอง  มัสยิดมำบังเป็นมัสยิดกลางตัวเมืองสตู เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นศูนย์รวมในการปฏิบัติศาสนกิจของชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดสตูล หอคอย หรือ หออาซาน ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของมัสยิด ซึ่งแต่เดิมไว้ใช้ตะโกนบอกให้มุสลิมละหมาด มัสยิดบำบัง  มีชื่อเดิมว่า "มัสยิดเตองะห์" หรือ "มัสยิดอากีบี" ได้สร้างในสมัยเจ้าเมืองสตูลคนแรก (ชื่อว่า ตนกูมูฮำหมัดอาเก็บ)  ซึ่งได้รับราชทินนามเป็นพระยาอภัยนุราช และพระยาสมันตรัฐบุรินทร์   ในปี พ.ศ. 2382 โดยรัชกาลที่ 3 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองของสตูลคนแรกซึ่งเจ้าเมืองสตูลได้ปรึกษากับหวันโอมาร์ บินหวันซาดี และข้าราชการ ให้สร้างมัสยิดถาวรขึ้น ได้ช่างผู้เขียนแบบแปลนมาจากเมืองมะละกา ซึ่งได้เงินทุนการก่อสร้างจากการขายเรือมาด (ตีเมาซูด๊ะห์) นำไปขายที่เมืองไทรบุรี เพื่อซื้ออิฐ กระเบื้องลูกฟูกมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น และขนกลับก่อสร้างที่สตูล ซึ่งใช้เวลาหลายปี  ในปี พ.ศ.2517  ได้รื้อและจัดสร้างใหม่ รูปทรงมัสยิดเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จทรงเปิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2525 ตัวอาคารสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น  ทาสีขาวตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหินอ่อนและกระจกใส ตัวอาคารแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนนอกเป็นระเบียง มีบันไดขึ้นหอคอย สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองสตูล ลักษณะเป็นยอดโดมเดียว   รูปคล้ายบัวตูม   หรือ  "เรือ"  ในหมากรุกไทย  บนยอดโดมมีสัญลักษณ์ดาวและพระจันทร์เสี้ยว แสดงถึงสัญลักษณ์การเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ส่วนในเป็นห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่ละหมาดพื้นหินขัด ผนังก่ออิฐถือโปกปูน สลับอิฐโปร่งสีน้ำตาล เพื่อระบายอากาศ ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบ หลังคาเทคอนกรีตปูด้วยกระเบื้องดินเผา โดมเป็นเฟือง ๘ เฟือง ประดับกระจกสีทองจากอิตาลีชั้นล่างมีห้องใต้ดิน ใช้เป็นห้องประชุม และห้องสมุด เป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวไทยมุสลิม

วัดชนาธิปเฉลิม

 วัดชนาธิปเฉลิม 


       สตูล เป็นเมืองแห่งความร่มเย็นอยู่เย็นเป็นสุข  ของชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามมานาน  100 กว่าปีแล้ว   ซึ่งได้มีศาสนาสถานที่เป็นมัสยิด และวัดพุทธ ตั้งอยู่ในตัวเมืองสตูล  และมีชื่อเรียกเหมือนกัน คือ  มัสยิดมำบัง และวัดมำบัง  ซึ่งวัดบำมัง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น   วัดชนาธิปเฉลิม  ในปี 2482  อยู่ที่ถนนศุลกานุกูล  โดดเด่นด้วยรูปปั้นยักษ์   2 ตนยืนตะหง่านอยู่หน้าอุโบสถ   เป็นวัดพุทธแห่งแรกของเมืองสตูล  สร้างเมื่อ พ.ศ. 2425   ส่วนพระอุโบสถของวัด ได้สร้างเมื่อพ.ศ.2473  มีลักษณะเด่นแตกต่างจากพระอุโบสถทั่วไป  คือ เป็นอาคารทรง ๒ ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ใช้เป็นศาลาการเปรียญ ชั้นบนเป็นอาคารไม้ ใช้ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นระเบียงมีบันไดสองข้าง เสาบานหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปเครือเถา  และที่วัดแห่งนี้อีกยังมีความสำคัญคือ มวลสารวัตถุจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ในวัดชนาธิปเฉลิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบของวัตถุมงคล "พระสมเด็จจิตรลดา"  ปัจจุบันวัดชนาธิปเฉลิม เป็นวัดที่หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสตูลร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสตูล โรงเรียนสตูลวิทยา ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีโรงเรียนเทศบาล 2 (วัดชนาธิปเฉลิม) อยู่ติดกับวัด ล้อมรอบด้วยคลองจำนวน 3 สาย คือ คลองมำบัง คลองเส็นเต็น และคลองตายาย  สอบถามรายละเอียดหมายเลขโทรศัพท์ 074-711996

ถนนบุรีวานิช

ถนนบุรีวานิช 


       ถนนสวยน่าเดินเล่นที่สตูล ก็คงเป็น ถนนบุรีวานิช  อาคารร้านค้าเป็นสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกิส ซึ่งในอดีตถนนสายนี้ได้ชื่อว่าเป็นย่านการค้าสำคัญ บุรีวานิชถือเป็นถนนสายแรกของเมือง “นครีสโตย” หรือเมืองสตูลก็ว่าได้  ในอดีตยุคที่ "ตนกธบาฮารุดดิน" เป็นเจ้าเมือง  เมืองสตูลมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจดี มีการค้ารังนกและพริกไทย ซึ่งเป็นศูนย์การซื้อขายระหว่างปีนังและภูเก็ต  จนทำให้เมืองสตูล ได้ชื่อว่า "นัครีสะโตยมัมบังสการา" (Negeri Setol Mum Bang Seagra) แปลเป็นภาษาไทยว่า เมืองแห่งพระสมุทรเทวา และเป็นหัวเมืองที่มีความสำคัญในยุคนั้นมาก  กล่าวกันว่าท่านมีความสนิทสนมกับทางราชการกรุงสยามเป็นพิเศษ ถึงกับสั่ง "บุหงามาศ" เครื่องราชบรรณาการถวายต่อราชสำนักสยามโดยตรงได้ โดยไม่ผ่านเมืองไทรบุรี เจ้าเมืองสตูลเป็นนักปฎิรูปบ้านเมือง จึงได้พัฒนาเมืองสตูล มีการตัดถนน  วางสายโทรศัพท์ โทรเลข และขยายท่าเรือสินค้าเพื่อความสะดวกในการลำเลียงและขนส่งสินค้าได้สะดวกขึ้น เมืองสตูลในอดีตมีท่าเรือเซ่งหิ้น หรือท่าเรือเหรียญทอง ท่าเรือศาลากันคง ท่าเรือเกาะนก อยู่ใกล้ตัวเมืองมีเรือกลไฟมาเทียบท่า และเจ้าเมืองสตูลยังได้ขยายท่าเรือคลองเส็นเด็น ซึ่งลำคลองมีน้ำลึก สามารถทะลุออกปากคลองเจ๊ะสมาด ออกสู่ทะเลอันดามัน ใช้เป็นท่าเรือขนถ่ายไม้โกงกางไม้แสมไปขายที่เกาะปีนัง  ถนนบุรีวานิช จึงเป็นย่านการค้าที่คึกคักที่สุด และเคยรุ่งเรืองกว่า 100 ปี 
       ปัจจุบันถนนบุรีวาณิช  มีร้านค้าสองข้างถนน ยังคงเป็นตึกเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปผสมศิลปะจีน  เป็นอาคารร้านค้าเก่าแก่ที่หน้าตึกจะมีช่องโค้ง ต่อกันเป็นระยะ เพื่อเป็นทางเดินทาง ที่เรียกกันว่า "หง่อคาขี่" เป็นภาษาจีนฮกเกี๊ยน ร้านค้าปัจจุบันยังค้าขายข้าวของเครื่องใช้  บ้างก็ปรับเป็นร้านค้าแนวใหม่ บ้างก็ยังคงกิจการดั้งเดิมไว้ ปัจจุบันยังมีอาคารเก่าแก่ที่ยังเป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกิส เช่นเดียวกับถนนบุรีวานิช ซึ่งรับอิทธิพลจากปีนัง  สันนิษฐานกันว่าอาคารเหล่านั้น สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ  2440 - 2445 สำหรับคนที่ชอบสะสมของเก่าสามารถสังเกตุจากตู้โชว์กระจก ที่ทำด้วยไม้มีสินค้าสารพัดเรียงรายโชว์อยู่เป็นแนวสโตร์เล็กๆ  ทำให้เรานึกถึงภาพในอดีตที่เต็มไปด้วยผู้คนต่างมาจับจ่ายค้าขายกันที่ถนนสายนี้   

       อำเภอทุ่งหว้า  (อำเภอสุไหงอุเป) ในอดีต ก็เป็นย่านการค้าระหว่างประเทศที่เจริญสุดขีด มีพ่อค้าชาวจีน มอญ มลายู อินเดีย เข้ามาซื้อสินค้าพริกไทย  ช่วงนั้นจะมีชาวจีนจากเกาะปีนังอพยพมาทำสวนพริกไทยที่ทุ่งหว้า   มีเรือกลไฟเดินทางระหว่างทุ่งหว้าและปีนัง  นอกจากพริกไทยก็ยังมีรังนกนางแอ่น ไข่จาระเม็ด ถ่านไม้  อีกด้วย

อ่าวตะโละวาว

อ่าวตะโละวาว

       อ่าวตะโละวาว อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ตต.1 (ตะโละวาว) จำลองอาคารที่เคยเป็นบ้านพักของผู้คุมเรือนนอนนักโทษ โรงฝึกอาชีพ ทางทิศใต้ของเกาะคือ อ่าวตะโละอุดัง ที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ตต.2 (ตะโละอุดัง) เคยเป็นที่กักขังนักโทษจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช และ กบฏนายสิบ